สัญญาซื้อขายที่ดิน

วันที่ : 07/11/2010   จำนวนผู้ชม : 8,500

เรื่องน่ารู้ในการทำสัญญาซื้อขาย
สัญญาประเภทหนึ่งที่นักธุรกิจต้องใช้งานอยู่เสมอคือสัญญาซื้อขาย โดยความเข้าใจของคนโดยทั่วไป สัญญาซื้อขายก็คือสัญญาซื้อขายมีของ มีสินค้าที่มีคนอยากขายและมีคนอยากซื้อ ถ้าตกลงราคาและเงื่อนไขอื่นๆ กันได้ นั่นก็เป็นสัญญาซื้อขายแล้ว! ความเข้าใจดังกล่าวก็ไม่ผิด แต่ถ้าจะลงรายละเอียดกันในเรื่องของ "สัญญา" สำหรับนักกฎหมายแล้ว เอกสารที่เรียกกันว่าเป็น"สัญญาซื้อขาย" นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ซึ่งสัญญาแต่ละประเภทจะส่งผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป
- สัญญาซื้อขายประเภทแรก คือ "สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด"
หมายถึง สัญญาซื้อขายที่มีการตกลงเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการ ซื้อขายครั้งนั้นไว้อย่างครบถ้วนแล้ว เช่น ทรัพย์สินที่จะซื้อขาย ราคา วันกำหนดส่งของ เมื่อมีการลงนามในสัญญานั้นหรือเมื่อมีการทำสัญญาแล้ว การซื้อขายจะสำเร็จเสร็จบริบูรณ์ไปทันที คู่สัญญาไม่ต้องไปทำการตกลงอะไรเพิ่มเติมหรือไปทำสัญญาอะไรกันอีกแล้ว ตัวอย่างของสัญญาประเภทนี้ก็เช่น สัญญาซื้อขายในการประกอบธุรกิจทั่วไป ผล ทางกฎหมายของสัญญาประเภทนี้ ็คือเมื่อลงนามแล้ว ก็จะมีผลผูกพันตามกฎหมาย แม้ว่าในสัญญาอาจกำหนดให้มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายหรือชำระราคาในภาย หลัง หรือเป็นงวดๆก็ตาม ก็มีผลผูกพันคือ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบิดพลิ้วขึ้นมา อีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญานั้นได้
-สัญญาซื้อขายประเภทที่สองคือ "สัญญาจะซื้อจะขาย"
สัญญา ประเภทนี้จะพบในการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน คอนโด และสังหาริมทรัพย์แบบพิเศษ เช่น เรือ แพ หรือสัตว์พาหนะ ถึงแม้คู่สัญญาจะลงนามในสัญญากันแล้ว และบางครั้งอาจ เรียกว่าเป็น "สัญญาซื้อขาย" ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าข้อความในสัญญาดังกล่าวเขียนไว้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียน สัญญาซื้อขายนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเช่นนี้ในทางกฎหมายจะถือเป็นเพียง"สัญญาจะซื้อจะขาย"ถามว่าทำไมต้องมี สัญญาประเภทนี้ ตอบได้ว่า เพราะกฎหมายบังคับไว้ว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และ สังหาริมทรัพย์พิเศษบางประเภทจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ มีการไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ถ้าทำการซื้อขายที่ดินกันตามอำเภอใจ โดยไม่ไปจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง การซื้อขายนั้นจะเป็น "โมฆะ" ด้วยเหตุนี้ เวลาต้องการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ นักกฎหมายถึงจะแนะนำให้ทำ "สัญญาจะ ซื้อจะขาย" เพื่อให้คู่สัญญาต้องผูกพันกันไว้ขั้นหนึ่งก่อนที่จะไปทำการจดทะเบียนโอน ทรัพย์สินเพื่อให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะเรียกว่าเป็น "สัญญาจะซื้อจะขาย" แต่ก็มีผลทางกฎหมายเป็นสัญญา จึงใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ โปรดระวังด้วยว่า ถ้าท่านซื้อหรือขายที่ดิน บ้าน หรือคอนโด แต่ทำสัญญาเป็นแบบ "สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด" โดยไม่มีข้อตกลงอย่างชัดเจนว่า จะไปจดทะเบียนการซื้อขายกับพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องอีกที สัญญาฉบับนั้นจะกลายเป็นสัญญาที่โมฆะ คือไม่มีผลทางกฎหมาย ทันที!
- สัญญาประเภทสุดท้าย คือ คำมั่นว่าจะซื้อขาย "คำมั่น"
หมายถึง การที่คนๆ หนึ่งผูกพันตนว่าจะต้องปฏิบัติตาม "คำมั่น" หรือ สัญญาที่ให้ไว้ เช่น นายแดงได้ขายที่ดินให้นายดำโดยมีข้อตกลงว่า นายแดงมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินแปลงนั้นคืนจากนายดำได้ภายในเวลา 1 ปี ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของนายดำว่า จะขายที่ดินคืนให้นายแดง ดังนั้น ถ้านายดำบิดพริ้วไม่ยอมขายที่ดินแปลงนั้นคืนให้ นายแดงก็สามารถฟ้องร้องบังคับซื้อที่ดินแปลงนั้นได้ ในเรื่องของ "คำมั่น" แม้จะเป็นการให้สัญญาเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ได้รับ "คำมั่น" ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของคำมั่น มิฉะนั้น "คำมั่น" ที่ไม่ได้รับการตอบสนองก็อาจสิ้นสภาพไปได้ เช่น กรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้าเวลาผ่านไป 2 ปีหลังการซื้อขายแล้ว นายแดงเพิ่งมา แจ้งกับนายดำว่าตนอยากซื้อที่ดินคืน กรณีแบบนี้ถือว่า "คำมั่น" ของนายดำที่ให้ไว้ได้สิ้นสุดไปแล้ว เพราะ "คำมั่น" ของนายดำมีเงื่อนไข อยู่ว่าจะขายคืนให้ "ภายในเวลา 1 ปี" เมื่อเกินเวลาไปแล้ว "คำมั่น" ก็สิ้นสุดลงทันที