จำนองหรือขายฝาก อะไรดีกว่ากัน?

วันที่ : 12/03/2017   จำนวนผู้ชม : 1,055

จำนอง หรือ ขายฝาก เลือกแบบไหนดี?

ปัจจุบันนี้ การกู้เงินนอกระบบ ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ไม่ต้องเสียเวลา หรือต้องใช้เอกสารยุ่งยากมาก เหมือนกับธนาคาร ได้เงินรวดเร็ว โดยเฉพาะ การกู้นอกระบบ ที่ใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน สามารถดำเนินการให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันนิยมกระทำกันในสองรูปแบบ ก็คือ การจำนอง และ การขายฝาก โดยทั้งสองแบบนี้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะต้องไปจดนิติกรรม ที่สำนักงานเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ ทั้งสองแบบก็มีความแตกต่างกัน ตามรายละเอียดดังนี้

วงเงินการอนุมัติ
        การจำนอง และการขายฝาก จะมีวงเงินอนุมัติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยปกติแล้ว การจำนองจะได้วงเงินประมาณ 10-30% ของราคาประเมิน ส่วน การขายฝาก จะได้ประมาณ 50-60% ของราคาประเมินเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะว่าการขายฝาก เงื่อนไขจะคล้ายๆกับการขายเลย เพียงแต่กำหนดระยะเวลาให้ไถ่ถอนได้ ดังนั้น ความเสี่ยงของผู้ปล่อยกู้จึงน้อยกว่า จำนอง ทำให้ได้รับวงเงินที่สูงกว่า ส่วนของการจำนอง ความเสี่ยงของผู้ให้กู้มีมากกว่า และมีขั้นตอนต่างๆในการยึดหลักประกันค่อนข้างมาก ทำให้มีวงเงินในการอนุมัติน้อย

การบังคับหลักประกัน

        ในกรณีที่ เราไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้ตามที่กำหนดได้ ในเรื่องของการจำนอง ผู้รับจำนองเอง ไม่ได้สามารถบังคับหลักประกันให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองในทันทีไม่ได้ ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า หากยังไม่ชำระหนี้อีก ก็ต้องฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด เพื่อนำมาชำระหนี้ของผู้รับจำนอง  ในส่วนของการขายฝากนั้น กรณี ผู้ขายฝาก ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ในระยะเวลาที่กำหนด ทางผู้ซื้อฝาก สามารถบังคับหลักประกัน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ทันที แต่ทั้งนี้ก็สามารถยืดระยะเวลาการไถ่ถอนคืนได้ แต่ก็ไม่เกิน 10 ปี ตามที่กฎหมายได้ระบุ

        อัตราค่าธรรมเนียม

            การจำนองและการขายฝาก อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ เรื่องของ อัตราค่าธรรมเนียม ในการทำนิติกรรม ซึ่ง การจำนอง จะเสียค่าธรรมเนียมในการจดจำนองร้อยละ 1 ของราคาประเมิน ส่วนในการ ขายฝากนั้น จะต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาประเมิน อีกทั้งยังต้องชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วเสีย อัตราค่าธรรมเนียม สูงกว่า การจำนองมาก 

        ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าการ จำนองและการขายฝาก แม้ว่าจะมีลักษณะการทำ นิติกรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นแล้วหากเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินกู้นอกระบบโดยมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันแล้ว ก็ควรเลือกพิจารณาให้ละเอียดถึงความจำเป็น ว่า เราสมควรที่จะเลือกแบบไหนดีระหว่างการจำนองและการขายฝาก