วิธีทำให้บ้านเรา กลายเป็นบ้านประหยัดพลังงาน

วันที่ : 02/02/2019   จำนวนผู้ชม : 1,337




ในเมื่อประเทศเราเป็นเมืองร้อน ทำให้ท่านสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับตนเอง แต่เมื่อค่าพลังงานไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆปี คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทำให้เราต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นเราจึงขอแนะนำวิธีการออกแบบ ปรับปรุงบ้านของเรา ให้กลายเป็น บ้านประหยัดพลังงาน เพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุขทั้งทางกายและสบายกระเป๋า

การออกแบบสภาพแวดล้อมอาคาร
1. ไม่ออกแบบลานพื้นคอนกรีตในทิศทางรับแสงแดด เพราะจะกลายเป็น มวลสารสะสมความร้อนในเวลากลางวัน และเทความร้อนกลับสู่บ้านในเวลากลางคืน ทำให้บ้านร้อน

2. รั้วบ้านไม่เป็นแบบทึบตัน เพราะจะกีดขวางทางลม และวัสดุที่ทำรั้ว เช่นอิฐมอญ หรือคอนกรีตบล็อค ยังมีคุณสมบัติสะสมความร้อนไว้ในเวลากลางวัน และจะถ่ายเทความร้อนสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืน

3. ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน สร้างความร่มรื่น ให้ความสดชื่นและสบายตา สามารถลดแสงแดดที่กระทบตัวบ้าน แต่ต้องระวังไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านเกินไป เพราะรากของต้นไม้จะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของบ้านได้ ในกรณีที่มีพื้นที่จำกัดอาจจะปลูกต้นไม้ดัดหรือไม้เลื้อยตามระเบียงหรือรั้ว เพื่อลดลมร้อนพัดผ่านเข้าตัวบ้าน และลดความแรงของแสงแดดที่ส่องผิวอาคาร

การออกแบบ-วางผังอาคาร
1. หันบ้านให้ถูกทิศทาง(ลม แดด ฝน) การวางตำแหน่งบ้านควรหลีกเลี่ยงในการสร้างบ้านรับแดด ซึ่ง 8-9 เดือน แสงแดดจะเข้ามาทางทิศใต้ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้กันสาดหรือใช้ต้นไม้บัง

2. ใช้แสงธรรมชาติเพื่อประหยัดไฟ ช่องแสงภายในบ้านควรออกแบบและจัดวางตำแหน่งให้สามารถนำแสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในห้อง เพื่อลดการใช้ดวงไฟ  ซึ่งทิศเหนือเป็นทิศที่รับอิทธิพลความร้อนของแสงแดดน้อยที่สุดในแต่ละช่วงปีแต่มีความสว่างคงที่ในแต่ละวัน จึงควรหันห้องที่ต้องการแสงแดดเข้าทางทิศเหนือเพราะจะได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง โดยที่ไม่ทำให้ร้อนจนเกินไป

3. ครัวไทยจะต้องไม่เชื่อมกับตัวบ้าน เพราะห้องครัวมักประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด เช่น เตาอบ เตาหุงต้ม กาต้มน้ำร้อน ตู้เย็น ซึ่งเป็นแหล่งปลดปล่อยความร้อนที่สำคัญ และสามารถถ่ายเทสู่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างเร็ว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ห้องครัวที่อยู่ภายในตัวบ้านควรมีการระบายความร้อนที่ดี          

4. ประตูหน้าต่างต้องมีทางลมเข้า-ออก เพื่อใช้ลมธรรมชาติระบายความร้อน ดังนั้นการวางตำแหน่งช่องหน้าต่าง ต้องดูทิศทางการเคลื่อนที่ของลม และการติดช่องหน้าต่างในตำแหน่งเยื้องกัน จะช่วยบังคับให้ลมไหลผ่านห้องต่างๆตามตำแหน่งที่ต้องการได้ 

5. วางผังเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสะดวกในการจัดเตรียมตำแหน่งติดตั้งเต้ารับหรือสวิตซ์ไว้ล่วงหน้า และควรแยกอุปกรณ์ที่จะสร้างความร้อนออกนอกห้องปรับอากาศ เช่น ตู้เย็น เครื่องต้มน้ำ

6. ห้องน้ำต้องมีแสงแดด ควรจัดวางให้สัมผัสแสงแดดมากที่สุด เพื่อสุขอนามัย และลดความชื้นสะสมภายในบ้าน และควรมีช่องลมในปริมาณมากพอ เพื่อระบายความชื้น 

การออกแบบองค์ประกอบอาคาร
1. มีช่องระบายอากาศที่หลังคา เช่น ช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือระแนงชายคา เพื่อลดความร้อนในบ้าน

2. บุฉนวนกันความร้อนที่หลังคาและผนัง โดยความหนาของฉนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับภาระทำความเย็น แต่ส่วนใหญ่ใช้ฉนวนที่มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว (50-75 มม.) ฉนวนสำหรับหลังคาและผนังมีหลายชนิด ได้แก่ ฉนวนใย แก้ว ฉนวนเยื่อกระดาษ ฉนวนเซรามิก

3. มีกันสาด-ชายคา บ้านที่มีชายคาสามารถกันแสงแดดได้ดี แต่ต้องดูทิศทางของแสงและลมด้วย นอกจากจะกันแดดแล้ว  กันสาดและชายคายังสามารถป้องกันฝนอีกด้วย

4. ทาสีผนังภายนอกให้ใช้สีอ่อน เพราะสีอ่อนจะมีคุณสมบัติสะท้อนแสงแดด และการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าสีเข้ม ถ้าทาสีอ่อนภายในอาคารก็จะสะท้อนแสงภายในห้อง เพิ่มความสว่างภายในห้อง ลดการใช้ดวงไฟ

5. อุดรอยรั่ว ด้วยซีเมนต์หรือซิลิโคน (Silicone) ที่ช่องติดตั้งโคมไฟ ช่องติดตั้งพัดลมเพดาน ช่องที่เตรียมไว้สำหรับเดินท่อน้ำ เป็นต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอกผ่านเข้าช่องเพดาน และอุดรอยรั่วตามรอยต่อระหว่างผนังขอบประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันความร้อนและความชื้นจากภายนอกผ่านเข้าไปในบ้าน ในกรณีที่ห้องนั้นเป็นห้องปรับอากาศ หรืออาจใช้บังใบวงกบ

6. การเลือกหน้าต่าง ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ภายในห้อง และการใช้งาน เช่น หน้าต่างบานเปิดสามารถรับกระแสลมสูงที่สุด หรือผนังด้านที่มีระเบียงยื่นควรเลือกใช้ประตูหรือหน้าต่างชนิดบานพลิก ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณลมได้ดีกว่าการใช้ประตูหรือหน้าต่างชนิดบานเลื่อน

อุปกรณ์อาคาร
1. คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศต้องวางให้ถูกที่  คือวางไว้ในจุดที่สามารถระบายความร้อนได้สะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง และต้องไม่ได้รับแสงแดดตอนกลางวันมากนัก เพราะถ้าคอมเพรสเซอร์สะสมความร้อนมาก จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น
 
2. หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไส้ เพราะจะเพิ่มความร้อนภายในห้อง และทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ควรเปลี่ยนมาใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แทน

3. ติดตั้งเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ในบริเวณที่ไม่ปรับอากาศและเปิดโล่ง เช่น ที่จอดรถ ระเบียงนอกบ้าน เพื่อระบายความร้อนและลดความชื้นที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ แต่ถ้าต้องติดตั้งในห้องปิด ควรจะต้องติด ตั้งพัดลมระบายอากาศ เพื่อป้องกันการสะสมความร้อนและความชื้นภายในห้อง

4. อย่ามี บ่อน้ำหรือน้ำพุ ในห้องปรับอากาศ เพราะเป็นการเพิ่มความชื้นให้กับห้องโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักมากขึ้น

         นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถทำให้บ้านของท่านกลายเป็น บ้านประหยัดพลังงานได้ แต่ทางที่ดีแล้วนอกจากจะออกแบบปรับปรุงบ้าน สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย นั่นก็คือ การลดใช้พลังงานไฟฟ้า โดยใช้เฉพาะที่จำเป็น และปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อการมีพลังงานไฟฟ้าให้ได้ใช้ไปอีกนานๆ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน